ผู้สนับสนุน



ราคาที่ดินรอบใหม่พุ่ง! ย่านสีลมแพงสุด จุดสร้างสถานีรถไฟ สูงปรี๊ด 150%

 

กรมธนารักษ์ ประเมินราคาที่ดินรอบใหม่ ประกาศใช้ 1 ม.ค.ปีหน้า พบแนวก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ราคาพุ่ง 75% หรือจุดสร้างสถานีรถไฟ ขยับสูงปรี๊ด 150% ขณะที่ย่านสีลม ยังแพงสุด ตารางวาละล้าน รองลงมาย่านราชดำริ ส่วนพื้นที่เขต ศก.พิเศษ ราคาเพิ่มขึ้น 15%…
นายจักรกฤษ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์เตรียมประกาศราคาประเมินที่ดินรอบบัญชีปี 2559-2562 จำนวน 32 ล้านแปลงทั่วประเทศ เพื่อประกาศใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2559 โดยราคาที่ดินรอบใหม่ขยับสูงขึ้น หลังจากรัฐบาลกำหนดก่อสร้างรถไฟหลายเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย , กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี, กรุงเทพฯ-หัวหิน รถไฟฟ้าสายใหม่ และพื้นที่ๆ มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ทั้งถนนตัดใหม่และอื่นๆ ที่พบว่าราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นถึง 75% หรือหากเป็นจุดที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าราคาที่ดินพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 150%
นอกจากนั้น ในการประเมินรอบใหม่พบว่าราคาที่ดินย่านสีลมยังคงมีราคาแพงที่สุด ตารางวาละ 1 ล้านบาทเพิ่มครั้งขึ้นจากครั้งก่อนที่มีราคาตารางวาละ 850,000 บาท หรือปรับขึ้นร้อยละ 17% ส่วนรองลงมาคือที่ดินย่านราชดำริอยู่ที่ตารางวาละ 900,000 บาท สำหรับสถานีที่อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ เช่น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กว่า 1,000 ไร่ เตรียมเจรจาใช้พื้นที่ของทหาร เพื่อรองรับศูนย์โลจิสติกส์ขนส่งสินค้าต่างจังหวัด
"กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการร่างนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินของที่ราช พัสดุของส่วนราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การขอใช้พื้นที่ด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้น เช่น การนำที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ หวังหารายได้เทียบเท่ากับภาคเอกชน ส่วนระยะยาวต้องกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ให้ชัดเจน การสร้างเมืองใหม่ในการรวมส่วนราชการ เช่น เหล่าทัพ ให้ตั้งอยู่พื้นที่เดียวกัน แนวทางดังกล่าวจะกำหนดไว้ในช่วง 30-50 ปี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เตรียมปรับทิศทางการอยู่อาศัยให้เข้ากับแผนการใช้ ที่ดิน"
สำหรับการจัดหาที่ราชพัสดุ เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ตามนโยบายของรัฐบาล ได้ทำหนังสือขอคืนพื้นที่ส่วนราชการในปี 2558 จำนวน 551 ส่วนราชการ เนื้อที่ 8,000 ไร่ แต่มีการส่งพื้นที่คืนให้ธนารักษ์ 1,700 ไร่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ชั้นใน จึงต้องจัดหาที่ดินรองรับความต้องการของภาคเอกชน โดยการคิดค่าเช่าแบบผ่อนปรนไม่สร้างภาระในช่วง 5 ปีแรก ทั้งนี้ ยอมรับว่าทำให้ราคาที่ดินที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนและพื้นที่ โดยรอบปรับราคาเพิ่มสูงเฉลี่ย 15% ต่อปี หรือจาก 1 ล้าน เป็น 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระของผู้ประกอบการในการจัดหาที่ดินขยายธุรกิจ
ส่วนการเดินหน้า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามนโยบายรัฐบาล ทางกรมธนารักษ์ได้จัดทำฐานภาษี เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดิน 32 ล้านแปลงทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จในปี 2560 ขณะที่ในปี 2558 ได้ประเมินที่ดินรายแปลงไปแล้ว 4.6 ล้านแปลง ส่วนในปี 2559 จะประเมินที่ดินอีก 19.4 ล้านแปลงให้แล้วเสร็จ.


ผู้สนับสนุน