ผู้สนับสนุน



สำหรับการลงทุนสาขาปิโตรเลียมรวมวงเงิน 342,284 ล้านบาท แยกเป็นภาครัฐ 262,284 ล้านบาท และภาคเอกชน 80,000 ล้านบาท โดยมีโครงการปิโตรเลียมภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ โครงการระบบท่อก๊าซตามแผนแม่บทฉบับที่ 3 โครงการ โครงการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ระยะที่ 2 และโครงการขยายคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ส่วนการลงทุนสาขาพลังงานทดแทนรวมวงเงิน 102,228 ล้านบาท แยกเป็นการลงทุนภาครัฐ 3,000 ล้านบาท ซึ่งประมาณการจากการสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนภาคเอกชน 99,228 ล้านบาท ประมาณการจากโครงการที่คาดว่าจะเริ่มต้นจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ขณะที่การลงทุนสาขาอนุรักษ์พลังงานจะมีวงเงินรวม 126,000 ล้านบาท แยกเป็นการลงทุนภาครัฐ 85,000 ล้านบาท และภาคเอกชน 41,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นประมาณการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี) ขณะเดียวกัน ในเดือน ต.ค.นี้ กระทรวงพลังงานจะส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.....และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ..... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา หลังจากที่กระทรวงพลังงานได้แก้ไขรายละเอียดบางมาตรา ตามที่ได้หารือร่วมกับตัวแทนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เช่น เรื่องการจัดภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง เพื่อให้ภาครัฐได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น หาก ครม.อนุมัติก็จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาใน 3 วาระ คาดว่าจะผ่านการพิจารณาจาก สนช.ภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นในต้นปี 2559 จะสามารถเปิดให้เอกชนมายื่นประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งการเปิดสัมปทานดังกล่าวรวม 29 แปลงทั้งบนบกและในทะเล ได้มีการแก้ไขให้เอกชนสามารถยื่นประมูลได้ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานจะไม่มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาคือ บรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากขณะนี้การควบคุมดูแลเรื่องพลังงานก็มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) รับผิดชอบอยู่แล้ว สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น ได้เสนอให้มีการเดินหน้าชี้แจงกับประชาชนที่คัดค้านโครงการดังกล่าว จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่พอใจกับทุกฝ่าย สาเหตุที่กระทรวงพลังงานเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะหากสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่เป็นการสร้างบนพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้า มีต้นทุนเพียง 8,000 ล้านบาท แต่หากไปสร้างบนพื้นที่แห่งใหม่อาจใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท พล.อ.อนันตพรกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่ามีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ในส่วนของบัญชีเงินกองทุนของก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ประจำเดือน ต.ค. จาก 92 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย เหลือ 8.27 สต.ต่อหน่วย ทำให้ราคาขายปลีก แอลพีจี ในประเทศ จะยังคงเดิม ที่ 22.29 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งเป็นราคาเดิมของเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาอีก 1 เดือน ขณะเดียวกัน กบง.ก็ได้มีมติให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันสำหรับ อี 20 จาก 1.90 บาทต่อลิตร เป็น 2.40 บาทต่อลิตร และปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยในส่วนของ อี 85 จาก 7.23 บาทต่อลิตร เป็น 9.23 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกของอี 20 และ อี 85 สามารถปรับลดลงได้ประมาณ 54 สต.ต่อลิตร และ 2.14 บาทต่อลิตรตามลำดับ โดยจะทำให้ราคา อี 20 อยู่ที่ 24.44 บาทต่อลิตร E85 อยู่ที่ประมาณ 20.34 บาท เพื่อดึงให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลมากขึ้น ช่วยทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และมันสำปะหลังมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยสถานะกองทุนน้ำมันล่าสุดเป็นบวกอยู่ที่ 35,291 ล้านบาท.


นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาได้ทบทวนโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ประจำปี 2557 โดยสินค้าไทยที่ได้รับการผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ กรณี De Minimis Waivers จำนวน 9 รายการ ได้แก่ กล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง ผลไม้แช่อิ่ม มะละกอแปรรูป อาหารปรุงแต่ง และรูปปั้นเซรามิก และสินค้าที่ได้รับการยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ (CNL Waivers) กรณีสัดส่วนการนำเข้าเกิน 50% จำนวน 2 รายการ ได้แก่ มะพร้าวปรุงแต่ง และลวดทองแดงอื่นๆ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 เป็นต้นไป ส่งผลให้สินค้าไทยที่ได้รับการผ่อนผันจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ กว่า 70 ล้านบาท
สำหรับการผ่อนผันกรณี De MinimisWaivers เป็นกรณีที่สินค้ามีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เท่ากับหรือมากกว่า 50% แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้านั้นจากทั่วโลกต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนด โดยในปี 2557 กำหนดที่ 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนกรณี CNL Waivers เป็นการขอผ่อนผันให้ยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ กำหนดเพดานการนำเข้าไว้ 2 กรณี คือ เพดานมูลค่านำเข้าเกินที่กำหนดในแต่ละปี ซึ่งในปี 2557 กำหนดไว้ที่ 165 ล้านเหรียญฯ และกรณีสัดส่วนการนำเข้าสหรัฐฯ เกิน 50%
นางอภิรดี กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออก และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2558 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป โดยมีสินค้าที่ต้องขออนุญาตก่อนส่งออกตามบัญชี 1,230 รายการ เช่น เส้นใยไฟเบอร์กลาส ที่ใช้เป็นวัสดุทำโครงไม้เทนนิส แต่สามารถนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนขีปนาวุธ, สารไตรเอทาโนลามีนที่ใช้ทำสบู่ ผงซักฟอก และโลชั่น แต่นำไปใช้ทำสารพิษ หรือควันพิษที่ใช้ในการก่อการร้ายได้, น้ำมันละหุ่ง ใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และไส้ตะเกียงที่เคลือบลวดทังสเตนในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นอาวุธได้ เป็นต้น.

ผู้สนับสนุน